ชม 4 วัดราษฎร์ เขตปทุมวัน: วัดชำนิหัตถการ

(For English, scroll down to the end of the page)

     เขตปทุมวัน เป็นอีกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่อาจเรียกได้ว่า “ครบเครื่อง ครบรส” มากที่สุด ทั้งสถานศึกษา สถานพยาบาล หน่วยงานสำคัญ ๆ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเกือบทุกแนวและแหล่งบันเทิงจำนวนไม่น้อยรวมอยู่ที่นี่ คึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน อย่างไรคนกรุงเทพฯ ก็ต้องเคยมาปทุมวันกันบ้างล่ะ

ที่เที่ยวแนวศิลปวัฒนธรรมก็มี อย่างหอศิลป์กรุงเทพฯ บ้านจิม ทอมป์สัน ชุมชนบ้านครัว แต่ถ้าให้แง้มฯ พูดถึงก็อาจซ้ำไปเสียแล้ว จะพาชมวัดดัง ๆ อย่างวัดปทุมวนาราม ที่ขนาบด้วย 2 ห้างใหญ่ หรือวัดบรมนิวาส ที่มีจิตรกรรมฝีมือขรัวอินโข่ง ก็มีคนเขียนถึงไปมากแล้วเหมือนกัน (หรือแง้มฯ จะเขียนนอกรอบอีกทีก็ไม่แน่) คราวนี้ แง้มฯ เลยขอตามรอยหนังสือ ศิลปกรรมวัดราษฎร์ในย่านเก่ากรุงเทพฯ ของ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล พาชม 4 วัดราษฎร์ในเขตปทุมวัน ที่หลายคนอาจเคยผ่านแต่ไม่เคยเข้าไป บางทีวัดที่เรามองข้าม อาจมีงานศิลปกรรมที่น่าสนใจซ่อนอยู่ก็ได้

ปทุมวัน

cover_wat_1_

ในชุดบทความ “ชม 4 วัดราษฎร์ เขตปทุมวัน” จะอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ ศิลปกรรมวัดราษฎร์ในย่านกรุงเทพฯ ของ ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล เป็นหลัก โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานแล้ว

วัดชำนิหัตถการ

ณ เลียบทางรถไฟ บริเวณสะพานกษัตริย์ศึก ที่ข้ามทางรถไฟจากสถานีกรุงเทพและคลองผดุงกรุงเกษม มีวัดอยู่บริเวณนั้น 3 วัดด้วยกัน วัดหนึ่งเป็นพระอารามหลวงและมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องปริศนาธรรมในรูปแบบจิตรกรรมตะวันตก คือ วัดบรมนิวาส ส่วนอีก 2 วัดที่อยู่ติดถนนพระราม 1 ล้วนเป็นวัดราษฎร์ และมีอายุเก่าพอ ๆ กัน

วัดแรกที่แง้มฯ จะพาชม คือ วัดชำนิหัตถการ หากมุ่งหน้าไปยังสะพานกษัตริย์ศึก วัดนี้จะอยู่ทางฝั่งขวามือ

IMG_4524_resize

     วัดชำนิหัตถการ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ไม่ปรากฏช่วงเวลาที่สร้างชัดเจน แต่คงเป็นวัดเก่าที่สร้างมานาน เดิมชื่อว่า วัดพิกุลทอง หรือ วัดพิกุลทองคลองนางหงส์ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสามง่าม

ต่อมา ในปีพ.ศ.2367 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 2 ปีแรกในรัชกาลที่ 3 พระยาชำนิหัตถการ นายช่างในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้บูรณะวัดขึ้นใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระยาชำนิ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดใหม่เป็น วัดชำนิหัตถการ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บูรณะ เรื่องนี้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 พ.ศ.2394 – 2411 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุไว้ในเรื่องทรงตั้งและแปลงนามวัดต่างๆ ว่า “วัดพระยาชำนิ แปลงว่าวัดชำนิหัตถการ” แต่ถึงวัดจะเปลี่ยนชื่อใหม่ ชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงเรียกว่า วัดสามง่าม มาจนถึงปัจจุบัน

จากภาพถ่ายเก่า อย่างภาพ Temple en ruines près de Sra Pathom (ซากวัดใกล้สระปทุม) ของ Auguste Jean-Marie Pavie (ออกุสต์ ปาวี บุคคลผู้มีส่วนสำคัญในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112) แสดงให้เห็นสภาพของวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ไม่ต่างจากวัดร้าง มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่โดยรอบ

11731663_10207014897996500_6177085905695531479_oAuguste Jean-Marie Pavie, Temple en ruines près de Sra Pathom, musée du quai Branly

(Disapong Netlomwong, เข้าถึงเมื่อ 12 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10207014897996500&set=a.1403713378464&type=3&theater)

91074421_1742381519237087_7800071504762241024_oSawaphol Suvanich, เข้าถึงเมื่อ 12 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1742381512570421&set=a.263493180459269&type=3&theater

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน บรรยากาศในภาพเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีถนนใหญ่ตัดอยู่ข้างวัด รายล้อมด้วยตึกแถวและบ้านเรือนอย่างหนาแน่น

IMG_4522_resize

     อาคารสำคัญในเขตพุทธาวาสวัดชำนิหัตถการ มี 2 หลัง ตั้งอยู่ในผังรูปตัว T คืออุโบสถตั้งอยู่ด้านหน้าในแนวทิศตะวันออก-ตก และวิหารตั้งขวางอยู่ด้านหลังในแนวทิศเหนือ-ใต้ ผังวัดแบบนี้พบในวัดที่สร้างหรือบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น วัดราชโอรสาราม วัดจันทาราม เป็นต้น

IMG_4518_resize IMG_4515_resize

     เมื่อมองไปที่อุโบสถ จะเห็นชัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 หลังคาไม่ประดับเครื่องลำยอง คือไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันและกรอบหน้าบันประดับปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาแบบจีน

     น่าสังเกตว่าหลังคาอุโบสถมีการยกคอสอง คือยกส่วนหลังคาขึ้นจากส่วนชายคา ที่คอสองเจาะซุ้มโค้งยอดแหลมโดยรอบ การยกคอสองนี้พบในกลุ่มสถาปัตยกรรมของวังหน้า พระยาชำนิหัตถการ ผู้บูรณะวัดนี้เป็นนายช่างในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เคยมีบทบาทการบูรณะพระประธานใน พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งหลังคาพระอุโบสถวัดบวรฯ ก็ยกคอสองเช่นเดียวกัน น่าคิดว่าลักษณะที่วัดชำนิหัตถการนี้ จะเกี่ยวข้องกับงานช่างวังหน้าหรือไม่

IMG_2902_resizeIMG_2898_resizeIMG_2901_resize

     อุโบสถมีเสาพาไลโดยรอบ แต่เป็นเสาพาไลที่หนากว่าวัดอื่น ๆ ที่ 8 ตำแหน่งโดยรอบปรากฏใบเสมา สลักดอกไม้กลมอยู่ตรงกลางและข้างซ้าย-ขวา ปลายใบเสมางอน ด้านบนเป็นกลีบบัวทรงชายคลุมและรัดเกล้า เป็นลักษณะของใบเสมาสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สืบทอดรูแบบจากใบเสมารุ่นก่อนหน้า

ซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายอย่างเทศ อุโบสถวัดนี้เจาะประตูทางเข้าที่ผนังสามด้าน ขนาบด้วยช่องหน้าต่าง ด้านละ 2 ช่อง แต่ปัจจุบันบางช่องก่อปิดไปแล้ว กรอบช่องประตูหน้าต่างเป็นทรงแปดเหลี่ยม ดูแปลกตาจากวัดอื่น ๆ

IMG_2893_resizeIMG_2891_resizeIMG_2892_resizeIMG_2890_resize

     ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย นามว่า พระศรีสรรเพชญทศพลญาณ ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานลดหลั่นลงมาอีก 2 องค์ และด้านข้างประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปยืนจำนวนหนึ่ง

ผนังด้านหลังตกแต่งเป็นซุ้มเรือนแก้ว 3 ซุ้ม ผนังตอนบนติดวอลเปเปอร์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง

IMG_2887_resizeIMG_2886_resizeIMG_8620_resizeIMG_8621_resize

     ด้านหลังอุโบสถ คือ วิหารพระพุทธไสยาสน์ หลังคาประดับเครื่องลำยองซึ่งน่าจะต่อเติมในสมัยหลัง หน้าบันประดับลายปูนปั้นพันธุ์พฤกษา ผนังภายในตอนบนเจาะช่องประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ

แม้ตัวอาคารจะถูกบูรณะต่อเติมจนแทบไม่เหมือนอาคารเก่า แต่พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านในยังสวยงามตามรูปแบบดั้งเดิม

พระพุทธไสยาสน์ วัดชำนิหัตถการ อยู่ในท่าบรรทมสีหไสยาสน์ หรือนอนตะแคงขวาอย่างพระนอนทั่วไป มีพระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง นูนขึ้นเป็นสัน พระโอษฐ์เล็ก แ้มพระโอษฐ์ ลักษณะพระพักตร์ที่นิ่งอย่างหุ่นละคร หรือที่เรียกว่า พระพักตร์อย่างหุ่น เป็นลักษณะที่พบในพระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นไปได้ว่าพระพุทธไสยาสน์คงสร้างขึ้นในสมัยนั้น

ความพิเศษของพระพุทธไสยาสน์ วัดชำนิหัตถการ คือ เส้นขอบพระเนตรเขียนด้วยสีดำจนดูโดดเด่นท่ามกลางสีทองเปล่งปลั่ง

IMG_8626_resizeIMG_8633_resizeIMG_8637_resizeIMG_8632_resizeIMG_8631_resizeIMG_8634_resizeIMG_8629_resize

     อย่างที่เห็นในภาพ ผิวขององค์พระพุทธไสยาสน์เริ่มแตกชำรุด หวังว่าจะมีการบูรณะโดยเร็ว

วัดชำนิหัตถการเป็นวัดที่มีอะไรน่าชมพอสมควร โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชื่นชอบงานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 พระนอนที่วัดนี้ก็สวยงามไม่แพ้วัดไหน แต่สิ่งที่แง้มฯ เสียดายเวลามาที่นี่ ก็คือการจัดการทัศนียภาพในวัด ถ้าไปดูภาพถ่ายในช่วง 10 ปีก่อน จะยังเห็นว่าสามารถมองอุโบสถทั้งหลังได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันได้มีการต่อเติมเต๊นท์กึ่งถาวรโดยรอบอาคาร หลังคาเต๊นท์บังอุโบสถจนไม่สามารถมองในระยะใกล้ได้ และทำให้คนที่มาวัดอาจพลาดชมการตกแต่งหลังคาและลายปูนปั้นที่หน้าบันไปอย่างน่าเสียดาย

ไม่ได้ถือเป็นภาคบังคับว่าผ่านไปแถวนั้นต้องแวะ แต่จะลองเข้าไปก็ได้ ปกติถ้าแง้มฯ มาวัดบรมนิวาส ก่อนกลับก็จะเดินมาปากซอย ปิดทริปที่วัดชำนิหัตถการนี่แหละ 😆

ยังมี วัดราษฎร์ ในเขตปทุมวันที่แง้มฯ จะพาชมอีก ติดตามได้ในตอนต่อไป…


วัดชำนิหัตถการ

199 ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

ปกติอุโบสถและวิหารพระพุทธไสยาสน์เปิดให้เข้าชม วิหารพระพุทธไสยาสน์ปิดประมาณเวลา 16.00 น.


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมศิลปากร, วัดชำนิหัตถการ.  เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล, ศิลปกรรมวัดราษฎร์ในย่านเก่ากรุงเทพฯ.  นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔.  เข้าถึงเมื่อ 22 มิถุนายน 2563, เข้าถึงได้จาก https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร์-รัชชกาลที่-๔/๒๑๓-ทรงตั้งและแปลงนามวัดต่างๆ

ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน.  นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2563.


     Pathum Wan district is one of the most bustling areas in Bangkok, with famous academies, hospitals, shopping centers, hotels, and most kinds of place for every tourist. Thre are also cultural tourist attractions, such as Wat Pathum Wanaram, Bangkok Art and Culture Centre, and Jim Thompson House. But this time, ThaiMNA will bring you all to 4 ‘Wat Rat’, or non-royal temples, which sometimes is not the interest of people.

Wat Chamni Hatthakan

Wat Chamni Hatthakan is on Rama I Road, at the foot of Kasat Suek Bridge. The year of building this temple is unknown. Phraya Chamni Hatthakan, a mechanic in the royal service of Somdet Phra Bawonratchao Maha Sakdiphonlasep, made the restoration in 1824. The temple’s name is to honor him, but people also call this temple as Wat Sam Ngam.
The architecture pattern of the main buildings is popular in King Rama III’s reign, combining Thai, Chinese, and Western art. There is a reclining Buddha in th vihara. From the art style, This reclining Buddha may be built in the reign of Rama III too.

 

Leave a comment